5 มิ.ย. 2555

นศ.จากเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ประดิษฐ์เครื่องผ่าปลากะตัก


ได้อ่านข่าวเกี่ยวกับการประดิษฐ์เครื่องผ่าปลากะตัก ดุแล้วมีประโยชน์มาก ลองอ่านดูนะคะ

“ปลากะตัก” ถือเป็นปลาผิวน้ำขนาดเล็กที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากชนิดหนึ่ง เนื่องจากนิยมนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ มากมาย ที่นิยมกันก็คือแปรรูปเป็นปลาตากแห้ง ซึ่งเป็นที่ต้องการทั้งในตลาดในไทยและต่างประเทศ

จากความต้องการดังกล่าวทำให้ผู้ผลิตหลายรายกำลังประสบปัญหาไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันกับความต้องการของตลาด เนื่องด้วยกรรมวิธีการผลิต ที่ต้องใช้เวลาและแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะในขั้นตอนที่ต้องเด็ดหัวและเอาก้างปลาออก หลังจากที่ได้นำปลากะตักไปต้มและตากแห้งเรียบร้อยแล้ว

จากปัญหาขั้นตอนการแปรรูปที่ต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก และทำได้ช้าไม่ทันกับความต้องการ ทางนักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมการเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ประกอบด้วย น.ส.ศิริวรรณ สุขเขียว น.ส.สุนิสา  ทอทอง  และ น.ส.สิรินทร์พร  แข่งขัน จึงคิดที่จะประดิษฐ์เครื่องผ่าปลากะตักขึ้นมาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว หลังจากที่ได้ลงพื้นที่ไปฟังปัญหาของชาวบ้านในเรื่องนี้

นักศึกษาเจ้าของผลงานทั้งสามร่วมกันบอกว่า ได้ออกแบบ และพัฒนาเครื่องผ่าปลากะตักขึ้น เพื่อใช้กับกระบวนการแปรรูปปลากะตัก มีจุดประสงค์เพื่อลดการใช้แรงงานคน ในกระบวนการเด็ดหัวปลา และผ่าซีกเอาก้างปลาออก  โดยการทำงานของเครื่องนี้ คือ เมื่อป้อนปลากะตักลงเครื่อง ผ่านลูกกลิ้งทรงกระบอกเข้าสู่ใบมีด เพื่อทำการผ่าปลากะตักให้แยกเป็น 2 ซีก จากนั้นจะมีลมเป่าทำให้ปลาที่ผ่าได้ตกหล่นสู่ตะแกรงคัดแยกเศษไส้ ก้าง และหัวปลา ออกจากตัวปลาที่ผ่าแล้ว

ส่วนปลาที่ไม่ได้ถูกผ่าก็จะมีการลำเลียงผ่านสกรูลำเลียงเพื่อนำกลับไปผ่าซ้ำ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดอาศัยแรงงานคนเพียงหนึ่งคนเท่านั้นในการทำหน้าที่ใส่ปลาลงในเครื่องและควบคุมเครื่อง ทำให้ไม่ต้องสิ้นเปลืองและใช้แรงงานจำนวนมาก

นักศึกษาทั้งสาม บอกต่อว่า ตามปกติในขั้นตอนการเด็ดหัวปลา และผ่าซีกเอาก้างปลาออก หากต้องจ้างแรงงานจะมีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 2 บาท แต่ทำได้ปริมาณเพียงวันละ 10 กิโลกรัม แต่เมื่อได้ทดลองนำเครื่องผ่าปลากะตักมาใช้งานจะสามารถทำการเด็ดหัวปลา และผ่าซีกเอาก้างปลาออก ได้จำนวน 2.5 กิโลกรัมต่อชั่วโมง เปรียบเทียบกับการใช้แรงงานคนทำในปริมาณ 10 กิโลกรัม จะใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมงเท่านั้น

หลังจากได้ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องผ่าปลากะตักสำเร็จและนำไปให้ชาวบ้านผู้ประกอบอาชีพทำปลากะตักตาก ได้ทดลองใช้ก็ได้ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ สามารถช่วยทุ่นแรง ประหยัดเวลาและค่าจ้างแรงงานได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณ  อาจารย์พฤกษา สวาทสุข ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และดร.ศุภกิตต์   สายสุนทร จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้ช่วยเป็นที่ปรึกษาตลอดทั้งโครงการ

นับเป็นการนำความรู้ที่ได้เรียนมาช่วยประดิษฐ์เครื่องมือในการช่วยแก้ปัญหาในการประกอบอาชีพหารายได้ของชาวบ้านได้เป็นอย่างดีจริง ๆ สำหรับผู้ที่สนใจเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.rmutt.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น